กระชายขาว พืชสมุนไพรคู่ครัวที่นอกจากนิยมนำมาทำอาหารแล้ว ยังอยู่ในตำรับยาพื้นบ้านของคนไทยมาช้านาน โดยในรอบปีที่ผ่านมา "กระชายขาว" ค่อนข้างได้รับความสนใจในฐานะสมุนไพรที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย สมุนไพรชนิดนี้ยังมีคุณประโยชน์อะไรอีกบ้าง
สรรพคุณกระชายขาว มีประโยชน์อะไรบ้าง?
กระชายขาวเป็นสมุนไพรภูมิปัญญาพื้นบ้านที่นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นเหง้า, ราก, ใบ นิยมนำมาต้มดื่มเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย โดยใส่มะนาว หรือน้ำผึ้งเพิ่มเติมลงไป เพื่อลดความขมของเหง้ากระชายขาวสด บ้างก็นำมาบดทำเป็นยาในทางแพทย์แผนไทย โดยมีสรรพคุณสร้างภูมิคุ้มกัน รวมถึงช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ดังนี้
รักษาโรคปากเปื่อย และปากเป็นแผล
รักษาอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ไซนัสอักเสบ
ช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
ใช้เป็นยาบำรุงร่างกายและชูกำลัง
บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
แก้อาการวิงเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก
ช่วยปรับฮอร์โมนในร่างกายให้สมดุล
ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
"กระชายขาว" ป้องกันโควิด-19 ได้จริงหรือไม่?
สาเหตุที่ทำให้กระชายขาวเป็นพืชสมุนไพรที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากเมื่อปี 2563 ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยงานวิจัยสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านโควิด-19 พบว่า "กระชายขาว" มีฤทธิ์ต้านที่สูงมาก ประกอบด้วยสารสำคัญ 2 ชนิด ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อในหลอดทดลองอย่างได้ผล ได้แก่ Panduratin A และ Pinostrobin โดยจะทำหน้าที่เป็นกลไกต้านเชื้อโควิด-19 ทั้งลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อ และยับยั้งการผลิตไวรัสออกมาจากเซลล์
ทั้งนี้ โครงการวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS โดยเบื้องต้น กำลังอยู่ระหว่างศึกษาทดลองเพิ่มเติม เพื่อผลิตสารสกัดกระชายขาว ให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาผู้ป่วยมากที่สุด
ในปัจจุบันสารสกัดกระชายขาวของโครงการวิจัยนี้ยังไม่ผลิตออกมา ดังนั้น หากจะซื้อผลิตภัณฑ์รูปแบบยาที่มีสารสกัดกระชายขาวมารับประทานเพื่อเสริมอาหารหรือรักษาโรค ควรเลือกซื้อชนิดที่มี อย.รับรอง และปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัย
ข้อควรรู้ก่อนกิน "กระชายขาว" ผลข้างเคียงที่ไม่ควรมองข้าม
แม้กระชายขาวจะมีสรรพคุณทางยา แต่หากกินติดต่อกันเป็นเวลานานในปริมาณเกินพอดี ก็อาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะอาการร้อนใน แผลในปาก ปัญหาเหงือกร่น และภาวะใจสั่น เนื่องจากกระชายขาวเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อนนั่นเอง หากกินเยอะเกินไปร่างกายอาจเสียสมดุลได้
อย่างไรก็ตาม หากจะกินกระชายขาวเพื่อรักษาโรค ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และผู้ป่วยโรคตับอักเสบ ไม่ควรกินกระชายขาว เพราะจะส่งผลต่อการทำงานของตับและไต
กระชายมหิดล: "กระชายขาว" สมุนไพรภูมิปัญญาไทย มีสรรพคุณอะไรบ้าง อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://mmed.com/products/