ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: เลือดกำเดา (Epistaxis/Nose bleed)  (อ่าน 57 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 253
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: เลือดกำเดา (Epistaxis/Nose bleed)
« เมื่อ: 27 มีนาคม 2024, 16:34:07 pm »

เลือดกำเดา (เลือดออกจากจมูก) เกิดจากหลอดเลือดฝอยที่บริเวณเยื่อจมูกมีการแตกทำลาย ทำให้มีเลือดออกจากรูจมูก

ส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดฝอยที่ผนังกั้นจมูกด้านหน้าแตก มักมีเลือดออกจากจมูกข้างเดียว อาการมักไม่รุนแรง และเลือดหยุดได้ง่าย ภาวะนี้พบบ่อยในเด็ก

ส่วนน้อยเกิดจากหลอดเลือดฝอยที่ผนังจมูกด้านข้างซึ่งอยู่ลึกไปทางด้านหลังของจมูก (มีขนาดที่ใหญ่กว่าหลอดเลือดฝอยที่ผนังกั้นจมูกด้านหน้า) แตก อาจมีเลือดออกจากจมูก 2 ข้าง และอาจมีเลือดออกมาก ซึ่งจะไหลลงคอและปาก ภาวะนี้พบบ่อยในผู้ใหญ่

เลือดกำเดาส่วนมากมักเกิดอาการขึ้นฉับพลัน บางรายอาจมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย พบได้ในคนทุกวัย พบบ่อยในเด็กเล็ก (อายุ 2-10 ปี) และผู้สูงอายุ (อายุ 50-80 ปี) 

นอกจากนี้ ยังพบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ (เนื่องจากหลอดเลือดขยายตัว ทำให้ผนังหลอดเลือดฝอยแตกได้ง่าย) ผู้ที่สูบบุหรี่ (เนื่องจากบุหรี่ทำให้ระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูก จมูกแห้ง) หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด (เนื่องจากแอลกอฮอล์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว และยับยั้งการแข็งตัวของเลือด)

ส่วนมากจะไม่มีอันตรายร้ายแรง และหายได้เอง

สาเหตุ
โดยมากมักไม่มีสาเหตุร้ายแรง ซึ่งจะมีเลือดออกเพียงเล็กน้อยและหยุดได้เอง

สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ การแคะจมูกหรือสั่งน้ำมูกแรง ๆ การเจออากาศแห้งหรือหนาวเย็น หรือนอนในห้องปรับอากาศ การอักเสบของเยื่อจมูก (เช่น ไข้หวัด หวัดภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ เป็นต้น) การอยู่ในที่สูงซึ่งมีความดันบรรยากาศลดลง (เช่น การนั่งเครื่องบิน การอยู่บนภูเขาสูง)

อาจเกิดจากได้รับบาดเจ็บ (เช่น ถูกแรงกระแทกที่ดั้งจมูก) มีสิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก ผนังกั้นจมูกคด ติ่งเนื้อเมือกจมูก การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด

อาจพบร่วมกับโรคติดเชื้อ (เช่น หัด มาลาเรีย ไข้เลือดออก เป็นต้น) ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง โรคตับเรื้อรัง (มีภาวะเลือดออกง่าย) การใช้ยา (เช่น ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก แก้คัดจมูก)

ผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูง บางครั้งก็อาจมีเลือดกำเดาไหล และถ้ามีความดันโลหิตสูงแบบวิกฤต (hypertensive crisis คือ ความดันช่วงบนมากกว่าหรือเท่ากับ 180 หรือช่วงล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 120 มม.ปรอท) ก็มักจะมีอาการเลือดกำเดาไหลบ่อย

ส่วนน้อยอาจมีสาเหตุร้ายแรง เช่น โรคเลือดที่มีเลือดออกง่าย ได้แก่ ฮีโมฟิเลีย มะเร็งเม็ดเลือดขาว โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ ไอทีพี เป็นต้น ซึ่งมักมีเลือดออกตามไรฟัน มีจ้ำเขียวขึ้นตามตัว อาจมีเลือดออกที่อื่น ๆ มีไข้ หรือตับโตม้ามโตร่วมด้วย

ในผู้ใหญ่ที่มีเลือดกำเดาบ่อยร่วมกับอาการคัดจมูก หูอื้อหรือมีก้อนบวมที่ข้างคอ อาจเกิดจากมะเร็ง หรือเนื้องอกในจมูกหรือโพรงหลังจมูก


อาการ

มีเลือดสด ๆ ไหลออกทางรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง

ถ้าออกที่ด้านหลังของจมูกอาจมีเลือดไหลลงคอและปาก ผู้ป่วยอาจมีอาการไอออกมาเป็นเลือดจากเลือดกำเดาที่ไหลลงคอ หรืออาจกลืนเลือดลงไปในกระเพาะอาหารทำให้อาเจียน หรือมีอาการถ่ายอุจจาระดำ (ซึ่งเป็นเลือดเก่า มาจากเลือดกำเดาที่ไหลลงไปในลำไส้) ในวันต่อ ๆ มา

ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าออกมากอาจทำให้เกิดภาวะซีดได้ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย


การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก

อาจตรวจพบเลือดกำเดาไหลหรือจุดเลือดออกที่เยื่อจมูก ภาวะซีด (ในรายที่เสียเลือดมาก)

ในรายที่มีโรคที่เป็นสาเหตุของเลือดกำเดา อาจตรวจพบความผิดปกติ เช่น ไข้ น้ำมูกไหล จุดแดงจ้ำเขียวตามตัว เลือดออกตามที่อื่น ๆ ผนังกั้นจมูกคด ติ่งเนื้อเมือกจมูก สิ่งแปลกปลอมในรูจมูก ความดันโลหิตสูง ดีซ่าน ตับโต เป็นต้น 

ในรายที่เลือดกำเดาออกรุนแรง เป็น ๆ หาย ๆ บ่อย หรือตรวจพบหรือสงสัยว่ามีโรคที่เป็นสาเหตุของเลือดกำเดา แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ใช้กล้องส่องตรวจจมูกและโพรงหลังจมูก ตรวจชิ้นเนื้อ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ให้การปฐมพยาบาล โดยให้ผู้ป่วยนั่งตัวตรง โน้มตัวไปข้างหน้า ก้มศีรษะเล็กน้อย ใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้บีบจมูกทั้ง 2 ข้างให้แน่นเป็นเวลา 10 นาที บอกให้ผู้ป่วยหายใจทางปากแทน

ส่วนมากมักจะได้ผลโดยวิธีดังกล่าว ถ้าไม่ได้ผลให้ทำซ้ำอีกครั้งนาน 10 นาที

ถ้าเลือดยังไม่หยุด แพทย์จะใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดชิ้นเล็ก ๆ ชุบอะดรีนาลิน ขนาด 1:1,000 ให้ชุ่มสอดเข้าในรูจมูกข้างที่มีเลือดออก ยัดให้แน่น ยานี้จะช่วยให้หลอดเลือดฝอยตีบลงและเลือดหยุดได้ ควรยัดผ้าก๊อซไว้นาน 2-3 ชั่วโมง เมื่อแน่ใจว่าเลือดหยุดดีแล้วจึงค่อย ๆ ดึงออก

ในรายที่เลือดออกไม่หยุด อาจต้องรักษาโดยการจี้ด้วยสารเคมี-ซิลเวอร์ไนเทรต (silver nitrate) หรือจี้ด้วยความร้อน (electrocautery)

2. ในรายที่แพทย์ทำการตรวจเพิ่มเติม พบภาวะซีด หรือโรคที่เป็นสาเหตุ ก็จะทำการรักษาภาวะ/โรคที่ตรวจพบ เช่น ให้ยาบำรุงโลหิตในรายที่มีภาวะซีดจากการเสียเลือด, ให้ยารักษาโรค (เช่น ไข้หวัด หวัดภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ความดันโลหิตสูง โรคเลือด), ปรับเปลี่ยนยา (ที่ใช้รักษาโรคอยู่เดิม) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เลือดกำเดาไหล, เอาสิ่งแปลกปลอมออก, ผ่าตัดแก้ไข (เช่น ผนังกั้นจมูกคด เนื้องอกในโพรงจมูก) เป็นต้น

ผลการรักษา ส่วนใหญ่หายได้ภายในเวลาสั้น ๆ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ถ้าหลังจากนั้นผู้ป่วยไม่ได้หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ก็อาจกำเริบซ้ำได้อีก

ส่วนน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ซึ่งมีโรคที่เป็นสาเหตุของเลือดกำเดา จำเป็นต้องได้รับการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุอย่างต่อเนื่อง
 

วิธีห้ามเลือดกำเดา

การปฐมพยาบาล สำหรับอาการเลือดกำเดาไหล

    จัดให้ผู้ป่วยนั่งตัวตรง โน้มตัวไปข้างหน้า ก้มศีรษะเล็กน้อย
    ใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้บีบจมูกทั้ง 2 ข้างให้แน่น บอกให้ผู้ป่วยหายใจทางปากแทน นาน 10 นาที
    ถ้าคลายนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ที่บีบจมูกออกแล้วเลือดยังไม่หยุด ให้ทำการบีบจมูกตามขั้นตอนข้างต้นซ้ำอีกครั้ง นาน 10 นาที ถ้าเลือดยังไม่หยุดควรรีบไปพบแพทย์ หรือให้แพทย์ทำการช่วยเหลือด้วยวิธีอื่นต่อไป

หมายเหตุ

    ระหว่างให้การปฐมพยาบาล อย่าให้ผู้ป่วยนอนราบหรือเงยหน้าขึ้น เพราะผู้ป่วยอาจกลืนเลือดลงไประคายต่อกระเพาะอาหาร เกิดอาการอาเจียนได้ หากมีเลือดไหลลงคอหรือปาก ควรคายออก อย่ากลืนลงไป
    หลังจากให้การช่วยเหลือจนเลือดหยุดแล้ว ควรระวังไม่ให้มีเลือดกำเดาออกอีก โดย
    - รักษาศีรษะให้อยู่ในระดับสูงกว่าหัวใจ อย่าก้มศีรษะให้อยู่ต่ำกว่าระดับหัวใจ และห้ามออกแรงเบ่ง ยกของหนัก เป็นเวลา 4-5 ชั่วโมง
    - ห้ามสั่งน้ำมูก แคะจมูก ขยี้จมูก เป็นเวลา 4-5 วัน
    - ถ้าเป็นไปได้ควรระวังไม่ให้ไอ จาม


การดูแลตนเอง

1. เมื่อมีเลือดกำเดาไหล ควรทำการปฐมพยาบาล

ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว ถ้ามีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ทำการปฐมพยาบาลไม่ได้ผล หรือมีเลือดกำเดาออกนานเกิน 20 นาที
    เลือดออกมาก หรือมีเลือดออกตามที่อื่น ๆ
    หายใจลำบาก
    มีอาการอาเจียนเพราะกลืนเลือดลงกระเพาะอาหารมาก
    ได้รับบาดเจ็บรุนแรง เช่น รถชน ตกจากที่สูง ถูกทุบตีที่ศีรษะ/ใบหน้า/จมูก
    มีภาวะซีดจากการเสียเลือด หรือมีจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว
    มีประวัติกินยาต้านเกล็ดเลือด/สารกันเลือดเป็นลิ่ม
    มีโรคประจำตัว เช่น โรคเลือด ความดันโลหิตสูง โรคตับเรื้อรัง
    พบในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
    เป็น ๆ หาย ๆ บ่อย

2. กรณีที่ไปพบแพทย์ เมื่อได้รับการรักษาจากแพทย์ ควรดูแลตนเองดังนี้

    กินยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามการรักษาตามที่แพทย์นัด
    ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
    - มีเลือดกำเดาไหลไม่หยุดหรือกำเริบใหม่
    - เจ็บหรือแน่นจมูกมาก หายใจลำบาก ปวดศีรษะมาก อาเจียนบ่อย มีไข้สูง เบื่อ อาหาร หรือน้ำหนักลด
    - กินยาที่แพทย์ให้กลับไปกินที่บ้าน แล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด

การป้องกัน

สำหรับเลือดกำเดาที่พบบ่อยซึ่งมักเกิดจากสาเหตุที่ป้องกันได้ ควรปฏิบัติ ดังนี้

    หลีกเลี่ยงการแคะจมูก และตัดเล็บให้สั้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก)
    หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรง ๆ
    ไม่สูบบุหรี่
    จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม
    ถ้าเป็นหวัด น้ำมูกไหล ใช้ยาตามขนาดที่แพทย์แนะนำ และไม่ใช้ติดต่อกันนาน ๆ
    หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศแห้งหรือหนาวเย็น ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรพ่นรูจมูกด้วยสเปรย์น้ำเกลือ/หยอดจมูกด้วยน้ำเกลือ วันละ 2-3 ครั้งเพื่อให้จมูกชุ่มชื้น
    ถ้ามีอาการเลือดกำเดาเวลานอนในห้องปรับอากาศ ควรตั้งเครื่องเพิ่มความชื้นไว้ในห้อง หรือวางภาชนะใส่น้ำ (เช่น แก้ว ขัน กระป๋อง กะละมัง) ไว้ใกล้หัวนอน เพื่อเพิ่มความชื้น และ/หรือใช้วาสลินป้ายในรูจมูกก่อนนอน
    ถ้าทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บต่อศีรษะ/จมูก ควรใช้อุปกรณ์ป้องกัน
    ในรายที่เกิดจากสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น ไข้หวัด หวัดภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ก็ควรดูแลรักษาโรคเหล่านี้ให้ถูกต้อง

ข้อแนะนำ

1. เลือดกำเดาส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พบในเด็ก มักไม่รุนแรง และหยุดได้ภายใน 20 นาที โดยอาจหยุดได้เองหรือหลังให้การปฐมพยาบาล อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีเลือดกำเดาไหลนานหรือรุนแรง หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

2. ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ หากมีเลือดกำเดาไหล อาจมีความรุนแรง มีเลือดไหลมากและนานได้ เนื่องจากอาจมีโรคประจำตัว (เช่น โรคเลือด โรคตับเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง มะเร็งโพรงหลังจมูก) หรือกินยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีผลทำให้เลือดออกง่าย (เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด สารกันเลือดเป็นลิ่ม) ดังนั้น เมื่อมีเลือดกำเดาเกิดขึ้น ควรเฝ้าสังเกตอาการ หากมีเลือดกำเดาออกมากหรือนานเกิน 20 นาที ก็ควรรีบไปพบแพทย์



หมอออนไลน์: เลือดกำเดา (Epistaxis/Nose bleed) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com

 

ลงประกาศฟรี โฆษณาฟรี ลงประกาศขายบ้านฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถ สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทสินค้าฟรี เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google