การรักษาโรคเบาหวาน ค้นหาสาเหตุและวิธีแก้ไขได้ที่นี่ความหวานน่าจะเป็นรสชาติที่ใครต่อหลายคนโปรดปราน แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่ซ่อนอยู่ในความอร่อยนั้นก็อาจมาพร้อมกับโรคได้
หลายคนเข้าใจว่าความหวานนั้นมาพร้อมกับความอ้วน ที่จริงก็ไม่ผิดนักเนื่องจากการกินอาหารหวานมักให้พลังงานที่มากเกินไป แต่อีกหนึ่งโรคร้ายที่น่ากลัวกว่าก็คือ “โรคเบาหวาน”
บทความนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับสาเหตุ วิธีการแก้ไข การดูแลตัวเอง รวมถึงการรักษาโรคเบาหวานอย่างถูกวิธีให้มากยิ่งขึ้น
โรคเบาหวาน คืออะไร ?
โรคเบาหวาน คือ โรคที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง อาจเกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนที่หลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยกว่าปกติ หรือเกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลินซึ่งพบได้ในโรคอ้วน
เราสามารถตรวจเบาหวานได้โดยการตรวจน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารประมาณ 8 ชั่วโมง หากระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก.ต่อเดซิลิตร หรือตรวจค่าน้ำตาลสะสมได้มากกว่า 6.5% ก็เข้าเกณฑ์ของโรคเบาหวาน
สังเกตตัวเองอย่างไรว่ากำลังเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ?
โรคเบาหวานเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่ไม่ค่อยส่งเสียงหรือแสดงอาการแบบโจ่งแจ้งเท่าไหร่นัก กว่าจะรู้ตัวโรคก็ดำเนินไปมากแล้ว
ดังนั้น เราจึงควรตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายด้วยว่ามีอาการต่าง ๆ ที่บ่งชี้ว่าคุณกำลังเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ดังนี้
1.ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ
ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่จะมีอาการปัสสาวะบ่อยถึงบ่อยมาก เนื่องจากน้ำตาลในเลือดสูงจะถูกกรองมาในปัสสาวะที่ไตและทำให้มีปัสสาวะบ่อยขึ้น ดังนั้นยิ่งผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นเท่านั้น
ปัสสาวะบ่อย อาการบ่งชี้โรคเบาหวาน
2.รู้สึกกระหายน้ำ
เป็นผลต่อเนื่องมาจากการที่ร่างกายเสียน้ำไปจากการที่ปัสสาวะบ่อย จึงทำให้ร่างกายขาดน้ำและรู้สึกกระหายน้ำมากกว่าปกติ
3.น้ำหนักลดลง
ผู้ป่วยอาจมีน้ำหนักตัวลดลงเนื่องจากเมื่อเกิดภาวะขาดอินซูลิน จะทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลที่อยู่ในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ จึงต้องเอาโปรตีนและไขมันที่สะสมไว้มาใช้แทน และทำให้น้ำหนักลดในที่สุด
4.ตาพร่า ตามัว
ในช่วงที่มีน้ำตาลในเลือดสูง สาเหตุเพราะเลนส์ตาเกิดการบวมน้ำ ทำให้ไม่สามารถปรับโฟกัสภาพให้ชัดได้ แต่อาการตาพร่า ตามัวนี้จะเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น เมื่อน้ำตาลในเลือดกลับมาอยู่ในระดับปกติ ก็จะทำให้การมองเห็นกลับมาชัดเจนเป็นปกติเช่นกัน
5.ปลายมือปลายเท้าชา
อาการปลายมือปลายเท้าชานั้นเป็นภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทจากโรคเบาหวาน โดยจะชาจากปลายมือปลายเท้าแล้วค่อย ๆ ชาไล่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บางรายอาจจะชามากจนรู้สึกปวดได้
7 แนวทางการดูแลรักษาสุขภาพอย่างไรให้ไกลเบาหวาน
สาเหตุส่วนหนึ่งของการเกิดโรคเบาหวานเกิดจากพฤติกรรมและการใช้ชีวิตเป็นส่วนใหญ่ แล้วเราจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือสุขภาพตัวเองและคนใกล้ตัวให้ห่างไกลจากโรคเบาหวานได้อย่างไรบ้าง
1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน
การดูแลรักษาสุขภาพให้ห่างไกลโรคเบาหวาน อาจจะเริ่มจากการดูแลและควบคุมพฤติกรรมการกินก่อนเป็นอย่างแรก ด้วยการลดปริมาณของหวานหรืออาหารจำพวกแป้งและคาร์โบไฮเดรตต่าง ๆ ลง เช่น น้ำอัดลม ขนมหวาน เบเกอรี่ เป็นต้น
2.รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง
นอกจากจะลดอาหารหวาน มัน เค็มแล้ว ยังควรหันมาบริโภคอาหารที่มีกากใยสูงอย่างผักใบเขียวให้มากขึ้น รวมถึงควรเลือกรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานในปริมาณที่พอเหมาะ
3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็ว ปั่นจักรยาน หรือเต้นแอโรบิก ครั้งละประมาณ 30 นาที ให้ได้ 3-5 ครั้ง/สัปดาห์
4.ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
หมั่นสังเกตอยู่เสมอว่าน้ำหนักลด หรือเพิ่มแบบไม่มีสาเหตุหรือไม่ และพยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วนเกินไป หรือผอมเกินไป
5.หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
ลด ละ หลีกเลี่ยง หรือจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นอาจมีผลข้างเคียงกับยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน รวมถึงโรคอื่น ๆ
6.งดสูบบุหรี่
ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรงดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด เพื่อลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
7.ใช้ยาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
เมื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ คุณหมอก็จำเป็นต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งยาที่ใช้ในการรักษานั้นก็มีทั้งยากินและยาฉีด ขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาลในเลือดและอาการอื่น ๆ ตามแต่คุณหมอพิจารณา
สรุป
โรคเบาหวานนั้นเป็นโรคที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ แต่สัญญาณเตือนเบื้องต้นที่เจอได้ เช่น อาการปัสสาวะบ่อยผิดปกติ รู้สึกกระหายน้ำ น้ำหนักลดลง ตาพร่า ตามัว เป้นต้น
โดยเราสามารถดูแลรักษาโรคเบาหวานเบื้องต้นได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ลดหวาน ลดแป้ง และเพิ่มการบริโภคอาหารที่มีกากใยมากขึ้น รวมถึงพยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ รวมถึงลด ละ เลิก การดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ แล้ว แต่ยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ คุณหมอก็จะพิจารณาใช้ยาเป็นลำดับสุดท้ายในการรักษาเบาหวานนั่นเอง